วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สนามสเกลาร์และเวกเตอร์ (Scalar and vector fields)

สเกลาร์และเวกเตอร์คืออะไร?

เมื่อพูดถึงปริมาณทางฟิสิกส์ หลายคนคงจะพอนึกออกว่ามีปริมาณอะไรบ้าง เช่น อุณหภูมิ มวล ความเร็วลม เป็นต้น ปริมาณเหล่านี้ แต่ล่ะตำแหน่ง อาจขึ้นอยู่กับ ทิศทาง

พยากรณ์อากาศวันนี้บอกว่า ภาคใต้อุณหภูมิเฉลี่ย 30-32 องศาเซลเซียส (\(^{\circ}\text{C}\)) ส่วนความเร็วลม 21 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (km/h) ในทิศตะวันออกเฉียงใต้ (SE)

เราคงไม่เคยได้ยินพยากรณ์อากาศว่า วันนี้ภาคใต้อุณหภูมิเฉลี่ย 30-32 องศาเซลเซียส (\(^{\circ}\text{C}\)) ในทิศเหนือ (N) และความเร็วลม 21 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (km/h) ใช่มั้ย (คงแปลกพิลึก 😜) ดังนั้นเมื่อเราจะบอกปริมาณทางฟิสิกส์ (อุณหภูมิ ความเร็วลม) เราต้องบอกให้เหมาะสม

  • ปริมาณสเกลาร์ (scalar quantity) คือ ปริมาณที่ไม่มีทิศทาง เช่น อุณหภูมิ อัตราเร็วลม มวล

  • ปริมาณเวกเตอร์ (vector quantity) คือ ปริมาณที่มีทิศทาง เช่น ความเร็วลม น้ำหนัก
  • หมายเหตุ: อย่างไรก็ดีเราสามารถแปลงปริมาณเวกเตอร์ไปเป็นปริมาณสเกลาร์ได้ เช่น จากความเร็วลมไปเป็นอัตราเร็วลม น้ำหนักไปเป็นมวล เป็นต้น

    เอาล่ะครับ เราคงทราบกันแล้วว่า ปริมาณสเกลาร์และเวกเตอร์ คืออะไร ต่อไปเรามาดูสนามสเกลาร์และเวกเตอร์ (ชื่อฟังดูน่ากลัว 😎)

    สนามสเกลาร์และเวกเตอร์คืออะไร?

    อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่าปริมาณทางฟิสิกส์นั้นขึ้นอยู่กับ แต่ล่ะตำแหน่ง (สถานที่) ให้เราจินตนาการถึงสนามหญ้าหน้าบ้านคนอื่น (ซึ่งมักจะเขียวกว่าหน้าบ้านตัวเองเสมอ) หญ้าแต่ล่ะต้นคงโตไม่เท่ากัน ถ้ามีใครบอกตำแหน่งในสนามหญ้ามา เราคงเดินและไปถอนหญ้าต้นนั้นออกมาได้

    หญ้าแต่ล่ะต้นในที่นี้แทน ปริมาณทางฟิสิกส์นั้นเอง แต่ล่ะต้นอาจเป็นอุณหภูมิที่ตำแหน่งนั้น หรือแต่ล่ะต้นอาจเป็นความเร็วลมที่ตำแหน่งนั้น ถ้าพิจารณาทั้งสนามเราคงได้สนามอุณหภูมิหรือสนามความเร็วลม คราวนี้คงเดากันไม่ยากแล้วใช่มั้ยครับ ว่าสนามสเกลาร์และเวกเตอร์คืออะไร

  • สนามสเกลาร์ (scalar field) คือ ปริมาณสเกลาร์ที่ขึ้นกับตำแหน่ง เช่น สนามอุณหภูมิ (เรามักจะคุ้นกับคำว่าแผนที่อุณหภูมิมากกว่า) แผนที่ความกดอากาศ หรือแผนที่พลังงานแสงอาทิตย์ดังรูปที่ (1) ด้านล่าง


  • รูปที่ 1: แสดงแผนที่พลังงานแสงอาทิตย์
    ที่มา: http://www2.dede.go.th/solarmap/

  • สนามเวกเตอร์ (vector field) คือ ปริมาณเวกเตอร์ที่ขึ้นกับตำแหน่ง เช่น สนามไฟฟ้า สนามความเร็วลม (แผนที่ความเร็วลม) ดังรูปที่ (2) ด้านล่าง


  • รูปที่ 2: แสดงแผนที่ความเร็วลม
    ที่มา: https://earth.nullschool.net/

    หมายเหตุ: คำว่า “ขึ้นกับ” ในที่นี้หมายถึง “เป็นฟังก์ชั่นของ”

    เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ให้ตำแหน่งใน 2 มิติ แทนด้วยพิกัด (\(x,y\)) เราอาจจะนึกภาพพิกัด (\(x,y\)) เป็นกราฟ 2 มิติ ที่มีแกนตั้งเป็น \(y\) และแกนนอนเป็น \(x\)

    ดังนั้น ถ้าเราแทนอุณหภูมิด้วย \(T\) และกำลังพิจารณาแผนที่อุณหภูมิใน 2 มิติ เราก็สามารถเขียนได้ว่า \(T \equiv T(x,y)\) และถ้าเราพิจารณาความเร็วลม (แทนด้วย \(\vec{v}\)) เราก็สามารถเขียนแผนที่ความเร็วลมได้ว่า \(\vec{v} \equiv \vec{v}(x,y)\)

    เป็นไงบ้างครับ รู้สึกสัมผัสถึงสนามอะไรบ้างยัง แล้วพบกันใหม่นะครับ

    ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น